เพลงเพื่อชีวิต คือประวัติศาสตร์ ในทุกช่วงของเวลาที่ต่างกัน ความหมายของบท เพลงเพื่อชีวิต ก็แตกต่างกัน แต่ยังคงไว้ด้วยแกนแห่งการสร้างสรรค์ ซึ่งมีทั้งเนื้อหาที่สุดขั้ว เรียบง่าย ฟังสบาย ให้กำลังใจ เดิมที่เพลง เพลงเพื่อชีวิต ถูกเรียกว่า " เพลงชีวิต " จากนั้นถูกบัญญัติชื่อใหม่ว่า " เพลงเพื่อชีวิต " ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2480 จุดเริ่มต้นของแนวเพลงชีวิตยุคบุกเบิกได้ถือกำเนิดขึ้น รวมทั้งเพลงเสียดสียั่วล้อสังคม นับได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ศิลปินมีบทบาทสะท้อนความทุกข์ยากของผู้คน รวมถึงการโกงกินของผู้แทนและนักการเมือง ออกมาในบทเพลงของพวกเขา โดยมีสภาพที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนในช่วงระหว่างสงครามและหลังสงครามผู้บุกเบิกแนวเพลงเพื่อชีวิตเป็นคนแรกนี้ นั่นก็คือ อาจารย์ แสงนภา บุญราศรี เป็นผู้ร้องเพลงที่สะท้อนภาพปัญหาของชีวิต และปัญหาของสังคมอยู่ในยุคแรกๆนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวความทุกข์ยากของคนปาดตาลในเพลงที่มีชื่อว่า “คนปาดตาล” ในอดีต คนปาดตาลเป็นอาชีพหนึ่งที่ทุกข์ยาก มีหน้าที่ปีนต้นตาลขึ้นไปปาดเอาน้ำตาลลงมาแล้วมาทำน้ำตาล และอีกหลายๆบทเพลง ที่ไม่สามารถฟังได้ด้วยเทคโนโลยีการบันทึกเสียงใดๆ หรือจะกล่าวอีกนัยนึงได้ว่าเราจะฟังเพลงของอาจารย์แสงนภาได้จากผู้อาวุโสอายุ 60 ปีขึ้นไป บางท่านที่ยังพอจดจำเพลงชีวิตของนักเพลงผู้นี้เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมากสำหรับบทเพลงที่มีความหมายและทรงคุณค่าอย่างนี้ ที่ปราศจากการเหลียวแลของคนยุคนั้นในช่วงทศวรรษ 2490 ความตื่นตัวของวงการเพลงที่มีสถานีวิทยุและธุรกิจแผ่นเสียงเป็นแรงกระตุ้นสำคัญ ที่ทำให้รูปแบบและเนื้อ หาเพลงเพื่อชีวิต พัฒนาไปในทิศทางที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น มวลชนมีการรับรู้กันอย่างกว้างขวางมากขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 2500 เป็นช่วงที่เพลงชีวิตซบเซาถึงขีดสุด แต่ได้เกิดเพลงชีวิตอีกแนวหนึ่งโดยนักเขียนนาม “จิตร ภูมิศักดิ์” ขึ้นภายในกำแพงคุก ในช่วงที่ถูกจองจำเป็นนักโทษการเมือง และพัฒนาเป็นต้นแบบของ “เพลงเพื่อชีวิต” ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 โดยนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยท่ามกลางความมืดมิดในยุคเผด็จการครองเมืองก่อน 14 ตุลา 2516 ณ ห้วงเวลานั้น จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนบทความที่เสนอแนวคิดเรื่อง “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ขึ้นมา และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแนวเพลงใหม่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา นั่นก็คือ “เพลงเพื่อชีวิต” กล่าวได้ว่าเพลงเพื่อชีวิตคือ เพชรเม็ดงามทางด้านวัฒนธรรม อันเกิดจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
“สุรชัย จันทิมาธร” หรือที่รู้จักกันในนาม “หงา คาราวาน” ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตผู้ยิ่งใหญ่ ก็ถือกำเนิดบทบาทของการเป็นศิลปินเพื่อชีวิตขึ้นมาในเหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นผู้หนึ่งที่อยู่ร่วมในการประท้วง และคอยแต่งบทกลอนต่างๆส่งให้โฆษกบนเวทีอ่านให้ประชา ชนฟัง เพื่อปลุกเร้าขวัญกำลังใจและรวบรวมความคิดให้เป็นหนึ่งเดียวกันในสมัยนั้น วงดนตรีเพื่อชีวิตวงแรกที่สร้างความประทับใจให้แก่คนรุ่นนั้นเป็นอย่างมาก ก็คือวงดนตรี “คาราวาน” ถือได้ว่าเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอดีต วงดนตรีคาราวานเป็นจุดเริ่มต้นการขยายตัวของดนตรีเพื่อชีวิต ได้มีการสร้างสรรค์ผลงานเพลงมากมาย โดยการเข้าร่วมกับขบวนการนักศึกษา ความโด่งดัง และความสามารถในเชิงดนตรีของพวกเขาส่งผลให้บทเพลงเพื่อชีวิตสามารถเปิดการแสดงร่วมกับวงดนตรีในเชิงธุรกิจได้ ผลงานชุดแรกของวงคาราวานมีชื่อว่า “คนกับควาย” ซึ่งปัจจุบันนี้หาฟังต้นฉบับจริงๆที่บันทึกเสียงไว้ในยุคนั้นได้ยากมาก มีเนื้อหาสาระสะท้อนความทุกข์ยากของชาวนา และชุดที่สองในชื่อ “อเมริกันอันตราย”เป็นบทเพลงที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา วงดนตรีที่เล่นเพลงเพื่อชีวิต ในเมืองไทย ที่มีอยู่ตั้งเเต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มี ฅาราวาน, คาราบาว, อี๊ด ฟุตบาท, คนด่านเกวียน,ซูซู,เเฮมเมอร์,พงษ์สิทธิ์ คำภีร์,พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ,อินโดจีน,มาลีฮวนน่า เป็นต้น ซึ่งบางวงที่กล่าวมาก็เลิกเล่น หรือเล่นแบบงานเฉพาะกิจเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น